วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553
บ้านเกิดค่ะ
แหล่งถ่านหิน ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวย มรกตอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี
กระบี่เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันมีหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เรารู้ว่าที่นี่เคยเป็นแหล่งชุมชนที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเทือกเขาทอดตัวยาวตามแนวเหนือใต้และเป็นภูเขาสูงต่ำสลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่น มาจนถึงที่ราบป่าชายเลนมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 160 กม. และเกาะน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ
กระบี่ เป็นเมืองที่มีภูมิทัศน์สวยงามเป็นเมืองชายทะเลในฝันที่งดงามด้วยหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ปะการังสวยทั้งลำธาร น้ำตก ถ้ำโตรกชะโงกผา และหมู่เกาะน้อยใหญ่ รวมกันเป็นมนต์เสน่ห์สร้างความหลงใหล ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเพียงเข้าสู่เมืองกระบี่ ก็มีเขาขนาบน้ำ ซึ่งตั้งขนาบแม่น้ำกระบี่ด้านหน้าตัวเมืองเป็นสัญลักษณ์คู่เมือง กระบี่เช่นเดียวกับป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ยังมีหาด อ่าวเกาะที่มีชื่อเสียงเช่น หาดไร่เลย์ อ่าวนาง เกาะลันตา เกาะรอกเกาะพีพีซึ่งเป็นที่รู้จักและใฝ่ฝันที่จะได้มาชมทั้งชาวไทยและต่างประเทศนอกจากความงามของทิวทัศน์ในท้องทะเลแล้ว กระบี่ ยังมีธรรมชาติและสถานที่สำคัญที่น่าไปชมไปศึกษาอีกมาก เช่น พิพิธภัณฑ์สถานคลองท่อมถ้ำลอด ถ้ำผีหัวโต ถ้ำชาวเลซึ่งมีความสวยงามและมีร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของ กระบี่เป็นถิ่นที่อยู่ของพรรณไม้และสัตว์ป่าหายากรวมทั้งนกแต้วแร้วท้องดำซึ่งมีเพียงที่เดียวในโลก
กิจกรรมอื่นๆ เช่น พายเรือแคนนู พายเรือคายัค ปีนหน้าผาการโรยตัวจากหน้าผาก็เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อรวมกิจกรรมเหล่านี้กับความงามของทิวทัศน์ ป่า เขา น้ำตก ท้องน้ำ หมู่เกาะ หาดทราย เพียงท่านมาเยือน กระบี่สักครั้งแล้วกระบี่จะอยู่ในใจท่านไปอีกนาน...
ประวัติศาสตร์ จังหวัดกระบี่
1. ดินแดนบริเวณจังหวัดกระบี่ยุคโบราณ นักโบราณคดีเข้ามาศึกษาร่องรอยการประกอบกิจกรรมของมนุษย์สมัยโบราณจังหวัดกระบี่ เช่น
- การขุดค้นข้อมูลถ้ำหลังโรงเรียนโดย ดร.ดักลาส ดี.แอนเดอร์สัน ที่ตำบลทับปริก อำเภอเมือง พบว่าเพิงผาแห่งนี้เป็นที่อยู่ของมนุษย์มาหลายสมัย หลักฐานต่างๆที่พบเป็นโครงกระดูก เศษเถ้าถ่าน เมล็ดพืช เปลือกหอย เครื่องมือหิน เศษเครื่องปั้นดินเผา เมื่อนำไปพิสูจน์จากชั้นดินแล้วปรากฎว่ามีอายุถึง 27,000 - 30,000 ปี
- การขุดค้นทางโบราณคดี โดย ดร.สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ ที่แหล่งถ้ำอ่าวโกบ และถ้ำหมอเขียวบ้านหน้าชิง ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง ก็พบหลักฐานมากมาย จำพวกเครื่องมือหิน โครงกระดูก เถ้าถ่าน เมล็ดพืช กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และอื่นๆ จากข้อมูลเบื้องต้น ได้สรุปว่ามีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาอาศัยและทำกิจกรรมต่างๆมาไม่ น้อยกว่า 37,000 - 3,300 ปี อย่างต่อเนื่อง จากทั้งสองแหล่งดังกล่าวล้วนเป็นข้อมูลเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ร่องรอยการเคลื่อนย้ายและการประกอบกิจกรรมต่างๆของมนุษย์สมัยโบราณและต่อ เนื่องลงมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดกระบี่มีดังนี้
1.1 เครื่องมือหิน เช่น เครื่องมือหินกะเทาะและหินขัด พบที่ถ้ำสระ อำเภอปลายพระยา ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก และเพิงผาอ่าวโกบ อำเภอเมือง แท่นบด ครกหิน ลูกกลิ้งหินบด สากหิน หินลับ มีรูปแบบต่างๆ นักโบราณคดีกำหนดอายุถึง 6,500 ปี มาแล้ว พบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม เครื่องประดับทำจากหิน เช่น ลูกปัดและกำไลต่างๆพบที่ถ้ำแห้งบางเหียน อำเภอปลายพระยา ,ชุมชนโบราณคลองท่อม และแหล่งถ้ำเสือ อำเภอเมือง
1.2 เครื่องปั้นดินเผา สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ พบที่ชุมชนคลองท่อม อำเภอคลองท่อม และพบที่เขาขนาบน้ำ อำเภอเมือง ส่วนสมัยประวัติศาสตร์พบที่เขาช่องตลาด เขาปูนเหนือ เขาปูนใต้ ในเขตอำเภออ่าวลึก
1.3 ภาพเขียนสี ในจังหวัดกระบี่มีเพิงผาที่เป็นแหล่งภาพเขียน ดังนี้ ถ้ำผีหัวโต ถ้ำเขาตีบ แหลมไฟไหม้ แหลมชาวเล ถ้ำชาวเล เขากาโรส(ท้ายแรด) เขาขนาบน้ำ ถ้ำไวกิ้ง(พีพีเล) ถ้ำป่าหมาก
1.4 เส้นทางเดินข้ามคาบสมุทร การเดินทางข้ามแหลมในสมัยก่อนอาศัยเส้นทางลำน้ำเป็นสำคัญ สำหรับ จังหวัดกระบี่ร่องรอยหลักฐานที่เป็นเส้นทางข้ามแหลม ได้แก่
- คลองท่อม-คลองสินปุน-อ่าวบ้านดอน จากปลายคลองท่อมเดินบกไปลงคลองสินปุนออกแม่น้ำหลวง(ตาปี)ที่บ้านท่ายาง( อำเภอทุ่งใหญ่) ไปออกอ่าวบ้านดอน
- คลองท่อม-คลองสินปุน-ท่ายาง-นครศรีธรรมราช
- คลองปากลาว-คีรีครัฐนิคม-อ่าวบ้านดอน จากคลองปากลาวในเขตอำเภออ่าวลึกผ่านเขาต่อไปออกคลองพุมดวง(คีรีรัฐนิคม) ออกแม่น้ำหลวงต่อไปอ่าวบ้านดอน
1.5 ชุมชนโบราณคลองท่อม(ควนลูกปัด) นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่าบริเวณจังหวัดกระบี่นั้นเคยเป็นบ้าน เมืองมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.900 ในบันทึกจีนที่เดินทางมาแถมทะเลใต้ ระบุชื่อเมืองหนึ่งว่า "โป-โล-โส" และบันทึกจีนอีกฉบับหนึ่งบันทึกชื่อ"เกียนปาย" นักโบราณคดีเห็นว่าเป็นชื่อชุมชนในเขตจังหวัดกระบี่ปัจจุบัน
2. กระบี่ในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช กระบี่หลังจากที่ชุมชนดั้งเดิมสลายตัวแล้ว คงเหลือแต่กลุ่มเล็กน้อยตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ตามย่านลำน้ำ สภาพทั่วไปยังเป็นเขาดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่านานาชนิด อยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช
3. กระบี่ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรนครศรีธรรมราช มีอำนาจในแหลมมาลายูมาได้ระยะหนึ่งมีกษัตริย์สืบมา 4-5 พระองค์ มาสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อพ่อขุนรามคำแหงลงมาตีได้ นครศรีธรรมราชมีฐานะเป็นเมืองพระยามหานคร ตามรูปการปกครองสมัยสุโขทัย ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการตามกำหนด ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชและสุโขทัยเป็นไปด้วยดี ดินแดนกระบี่ในยุคนี้ผนวกอยู่กับนครศรีธรรมราช จึงไม่มีบทบาทในฐานะเป็นเมือง คงมีแต่ชุมชนชาวอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินตามแหล่งน้ำ ที่ราบเชิงเขาและชายฝั่งทะเลทั่วไป
4. กระบี่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราชยังคงขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา เพราะยังเป็นระยะไทยรวมไทยคือ สุโขทัย อยุธยา และนครศรีธรรมราช ล้วนถูกรวมเข้ามาเป็นอาณาจักรเดียวกัน จนกระทั่งเสียกรุงความสัมพันธ์ของเมืองนครศรีธรรมราชกับกรุงศรีอยุธยาสิ้น สุดลง ดินแดนเมืองกระบี่ ยังคงเป็นดินแดนของเมืองนครศรีธรรมราชอยู่เช่นเดิม
5. กระบี่ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแกพม่า หลวงสิทธินายเวร(หนู) ซึ่งเป็นปลัดเมืองในขณะนั้นตั้งตัวเป็นอิสระเรียกว่ "ชุมชนเจ้านครศรีธรรมราช" โดยรวบรวมกำลังจากชุมชนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเข้าด้วยกันรวมทั้งกระบี่ด้วย เพื่อรักษาสถานการณ์ทางใต้ให้มั่นคง พระยาตากเห็นว่า เมืองนครศรีธรรมราชพร้อมไปด้วยผู้คนและเสบียงอาหาร อยู่ใกล้ทะเลสามารถหาอาวุธได้ง่าย เกรงว่าจะก่อความยุ่งยากในภายหลังจึงลงมาปราบปราม เมืองนครศรีธรรมราชให้อยู่ในอำนาจ แล้วให้พระราชวงศ์ส่วนกลางลงไปปกครอง กระบี่ยุนี้เริ่มมีผู้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมากขึ้น สมัยพระเจ้าตากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทย เป็นอย่างแน่นแฟ้น ระยะนี้มีชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศมากขึ้น
6. กระบี่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างอยู่หลายปี เล็งเห็นว่าชาวบ้านที่ติดตามเข้ามา ทำมาหากินนั้นต่างคนอยู่เป็นหมู่เป็นพวก ขาดคนควบคุมดูแลอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ จึงรายงานไปยังเจ้านครศรีธรรมราช เพื่อจัดตั้งเขตการปกครอง เรียกว่า"แขวง" ขึ้น 3 แห่ง
- แขวงเมืองบ้านปกาไส คือบริเวณค่ายจับช้าง
- แขวงเมืองบ้านคลองพน ตั้งอยู่ริมคลองปากพน
- แขวงเมืองบ้านปากลาว ตั้งอยู่ริมคลองปากลาว
ต่อมาแขวงปกาไสมีความเจริญและผู้คนมากขึ้นตามลำดับ พระปลัดเมือจึงได้ย้ายมาทำการตั้งที่บ้านหินขวาง ปากคลองกระบี่ใหญ่ ต่อมาได้รับการยกฐานะจากแขวงขึ้นเป็นเมืองใน ร.ศ.95 พ.ศ.2415 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ชื่อว่า"เมืองกระบี่" ครั้งแรกมี 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอปากลาว อำเภอคลองพน อำเภอเกาะลันตา
7. กระบี่ในสมัยการปกครองมณฑลเทศาภิบาล การเทศาภิบาลเป็นการปกครอง ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาปรับปรุงระเบียบการบริหาร ราชการแผ่นดินในส่วนภูมิภาค จังหวัดกระบี่ได้รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต
อาหารพื้นเมือง ( กระบี่ )
หอยชักตีน ถือเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ โดยการนำหอยไปลวกในน้ำเดือด เพื่อให้ส่วนที่คล้ายเท้าของหอยโผล่ออกมา จิ้มกับน้ำจิ้มรสแซบ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักชิมเป็นอย่างยิ่ง หารับประทานได้ตามร้านอาหารในจังหวัด
ผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเล จังหวัดกระบี่ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเล ได้แก่ กะปิ ที่ทำจากกุ้งเคย มีรสชาติดี กลิ่นหอม กุ้งเสียบ ที่นำไปทำเป็น น้ำพริกกุ้งเสียบ และต้มยำทำแกงได้สารพัด ปลาฉิ้งฉาง ที่มีให้เลือกทั้งแบบตากแห้ง และแบบปรุงรสหวาน สำหรับไว้ทานเล่น นอกจากนี้ยังมีแกงไตปลา น้ำพริกสำเร็จรูป อาหารทะเลแห้ง อาหารทะเลปรุงรส และของฝากอื่นๆ อีกมากมายให้เลือกซื้อ
วัฒนธรรมประเพณี
งานกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน
จัดขึ้นตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัด มีกิจกรรมรื่นเริงและการแสดงทางวัฒนธรรมมากมาย และการแข่งขันกีฬาทางน้ำหลายประเภท
งานประเพณีสารทเดือนสิบ
เดือนสิบเป็นประเพณีสำคัญของชาวใต้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ขนมที่ขาดไม่ได้คือ ขนมลา ขนมเจาะหู ขนมพอง ขนมบ้า และขนมกงหรือไข่ปลา
ประเพณีลอยเรือชาวเล
จัดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 และวันเพ็ญเดือน 11 ของทุกปีที่เกาะลันตานับเป็นงานประเพณีเก่าแก่ของชาวเลที่หาดูได้ยาก โดยกลุ่มชาวเลในบริเวณเกาะลันตาและเกาะใกล้เคียงจะมาชุมนุมกันทำพิธีลอยเรือ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ณ ชายหาดใกล้ ๆ กับบ้านศาลาด่าน ในพิธีจะมีการร้องรำทำเพลง มีการร่ายรำรอบลำเรือด้วยจังหวะและทำนองเพลงรองเง็ง
สถานที่ท่องเที่ยว Unseen กระบี่
สระมรกต
สระน้ำสวยใสกลางใจป่า กำเนิดมาจากธารน้ำอุ่นในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้ แหล่งสุดท้ายที่พบนกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งเคยสูญพันธ์ไปนานเกือบ 100 ปี ใครจะรู้บ้างไหมว่า ใจกลางป่าผืนนี้มีทั้งสระน้ำสวยใส และนกหายากอยู่รวมกัน เป็นสระที่รับน้ำมาจากน้ำตกที่ไหลจากเทือกเขาประ-บางคราม น้ำที่ตกมามีสีเขียวคล้ายมรกต เต็มไปทั้งสระ จึงเรียกสระนี้ว่า สระมรกต
สระมรกต สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีแต่สภาพที่ดีซึ่งจะเห็นสระเป็นสีเขียวมรกตสดใส มักจะเป็นช่วงเวลาเช้า และเย็น โดยเฉพาะในวันฤดูร้อนที่ท้องฟ้าสดใสปราศจากเมฆฝน
การเดินทาง
อยู่ในเขตอำเภอคลองท่อมจากจังหวัดกระบี่ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาประ-บางคราม ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 สู่อำเภอคลองท่อม แยกซ้ายมือทางหลวงหมายเลข 4038 มุ่งหน้าอำเภอลำทับ ระหว่างทางมีทางแยกขวามือเป็นทางย่อยแยกเข้าสู่น้ำตกร้อน และสระมรกตที่มีป้ายบอกทางชัดเจน
น้ำตกร้อน
อ่างอาบน้ำธรรมชาติกลางป่ารองรับสายน้ำตกที่ไหลหลั่นลงมาจากเนินเขา ใครได้มาสัมผัสต่างบอกกันว่า ไม่ใช่น้ำตกธรรมดาๆ แน่นอน ก็ใครจะเชื่อว่า นี่คือน้ำตกร้อนสายน้ำแร่ที่ไหลมาพร้อมๆ กับไออุ่นเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นธารน้ำพุร้อนผุด ขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ มีสารกำมะถัน เจือจางเป็นส่วนประกอบ มีอุณหภูมิพอเหมาะตกลงมาในแอ่งสามารถอาบน้ำได้ เป็นสถานที่ นักท่องเที่ยวนิยมไปอาบน้ำตกร้อน ธารน้ำแร่เพื่อสุขภาพน้ำตกร้อนสามารถไปเที่ยวชมได้ทุกวัน ช่วงเวลาที่สวยที่สุดคือช่วงเช้า 07.00-08.00 น. และช่วงเย็น 16.00-17.00 น.
การเดินทาง
อยู่ในเขตอำเภอคลองท่อม ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร จากกระบี่ถึง อ.คลองท่อม เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 4038 แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนรพช. และตามป้ายบอกทางไปจะพบน้ำตกร้อน และสระมรกต
ทะเลแหวก
ลึกล้ำเข้าไปกลางทะเลลึกแห่งอันดามัน ช่วงเวลาหนึ่งที่เรานั่งเรือชมเกาะรูปร่างสวยงามแปลกตา ใครจะเชื่อว่า อีกชั่วข้ามเวลาหนึ่งทะเลที่เราผ่านมาชั่วครู่ จะลดระดับน้ำ ดุจทะเลแหวกออกจนกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาดเชื่อมเกาะสองเกาะสองเกาะอย่างน่าอัศจรรย์มีลักษณะเป็นเกาะ 3 เกาะอยู่ในทะเล ยามเมื่อน้ำทะเลลดเป็นแนวยาว 2 เกาะสามารถเดินไปเที่ยวชมได้ซึ่งดูเหมือนเดินอยู่กลางทะเล จึงเรียกว่า ทะเลแหวก ทะเลแหวกสามารถชมได้ดีที่สุดในช่วงเวลาน้ำลงต่ำสุดในแต่ละวัน โดยเฉพาะในวันก่อน และหลังวันขึ้น 15 ค่ำ ราว 5 วัน ฤดูกาลท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี
การเดินทาง
ทะเลแหวกอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร จากจังหวัดกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข 4034 แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 4202 ไปอ่าวพระนาง สามารถเช่าเรือเหมาลำ ได้ทั้งทางเรือหางยาว และเรือเร็ว
ท่าปอม คลองสองน้ำ
ท่าปอม เป็นชื่อป่าดิบชื้นและป่าพรุติดเชิงเขาหินปูน ในตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ป่าผืนนี้เป็นต้นกำเนิดลำคลองสายสั้นๆมีน้ำใสสะอาดมาก ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ชาวบ้านเรียกว่าคลองสองน้ำ เป็นป่ามหัศจรรย์ที่อยู่ใกล้เมืองกระบี่ เนื่องจากในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง น้ำในคลองที่จืดสนิทจะกลายเป็นน้ำกร่อย ครั้นเมื่อน้ำลง น้ำจืดจากป่าต้นน้ำก็ผลักดันน้ำเค็มไปจนหมด ความสมดุลเช่นนี้เอง ได้ก่อให้เกิดระบบนิเวศเล็กๆที่โดดเด่น คือ ตรงรอยต่อระหว่างกระแสน้ำจืดกับน้ำเค็ม เป็นจุดบรรจบของป่าสองถิ่นสามารถพบเห็นต้นชมพู่น้ำตัวแทนจากป่าพรุ ในบริเวณเดียวกันยังมีต้นโกงกางใบเล็ก พังกาหัวสุม ซึ่งเป็นตัวแทนจากป่าชายเลน
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน)
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน)
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน)หมู่ 1 ถนนเพชรเกษม ตำบลเขาคราม ใช้เส้นทางกระบี่-อ่าวลึก อยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ 20 กิโลเมตร เป็นศูนย์เพื่อรวบรวมพันธุ์พืชในท้องถิ่น ทดสอบพันธุ์พืชในประเทศและต่างประเทศ เพื่อผลิตและกระจายพืชพันธุ์ดีแก่เกษตรกร ภายในศูนย์จะมีไม้หลายพันธุ์ให้เที่ยวชม อาทิ หมากแดง ดาหลา จั๋ง เฮลิโทเนีย มะพร้าวน้ำหอม กล้วยไม้หลากพันธุ์หลากสีสัน และดอกหน้าวัวกว่า 70 สายพันธุ์ ที่มีสีสันแปลกตาสวยงาม เช่น พันธุ์มิโดริ ดอกจะสีเขียว พันธุ์มินาคีไวท์ ดอกสีขาว พันธุ์ทวิงโก้ ดอกสีชมพูอ่อน และพันธุ์โรยัล ฟรัช ดอกจะมีสีม่วง เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 7561 2913
ดำน้ำจังหวัดกระบี่
ทะเลจังหวัดกระบี่เหมาะสำหรับการดำน้ำทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก น้ำทะเลสีเขียวเข้มของกระบี่ ตัดกับเขาหินปูนตระหง่านทำให้คนหลงรักทะเลมานักต่อนัก กระบี่นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องหาดทรายและเวิ้งอ่าวที่อยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาแล้ว น้ำทะเลใสที่เปิดโอกาสให้แสงแดดส่องลงลึกถึงดงปะการังริมผาใต้น้ำ ก็เป็นที่เลื่องลือของนักดำน้ำเช่นกัน หากมีโอกาสนักดำน้ำไม่ควรลังเลที่จะได้ไปชมความสวยงามของหินแดงหินม่วง ที่นับเป็นจุดดำน้ำสุดยอดแห่งหนึ่งของทะเลไทย
เกาะพีพีดอน ทางด้านใต้เกาะพีพีดอน เป็นจุดดำน้ำแห่งหนึ่งที่แตกต่างจากจุดอื่น ๆ คือหน้าผาหินปูนจะตัดดิ่งลงก้นทะเลจนถึงความลึกที่ 60 ฟุต แล้วค่อย ๆ ลาดลงไปถึง 70 ฟุต นอกจากปะการังหลากสีสันที่ประดับประดาผนังหินปูน ยังมีปลาดาวขนนก กัลปังหา แส้ทะเลและฟองน้ำมากมาย
เกาะบิด๊ะนอก เป็นเกาะเล็กอยู่ห่างจากเกาะพีพีเล ไปทางใต้ประมาณ 1.6 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปะการังที่สวยที่สุดในหมู่เกาะพีพี กองหินขนาดใหญ่กระจัดกระจายอยู่ใต้น้ำ เป็นแหล่งอาศัยของเหล่าปะการังแข็ง ฟองน้ำ กัลปังหา แส้ทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวขนนก ดาวมงกุฎหนาม บางครั้งนักดำน้ำอาจได้พบกับฉลามนางฟ้าด้วย น้ำทะเลบริเวณนี้ใสมากจนแสงแดดสามารถส่องลงไปได้ถึงความลึก 80 ฟุต
หินกลาง จุดดำน้ำตื้นระหว่างเกาะพีพีดอน และเกาะไผ่ มีปะการังแข็งเป็นบริเวณกว้างในระดับความลึกน้อยกว่าสี่เมตร แสงแดดส่องถึงจึงเป็นจุดดำน้ำตื้นที่ดีมากจุดหนึ่ง ความรุนแรงของคลื่นยักษ์ แม้จะสร้างความเสียหายแก่แนวปะการังน้ำตื้นที่นี่ได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนมากยังคงสภาพและความสวยงามดังเดิม
หมู่เกาะลันตา ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 15 เกาะ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ หมู่เกาะชายฝั่ง เช่น เกาะไม้งาม เกาะลาปูเล ส่วนที่สอง คือเกาะลันตาใหญ่ ที่มีป่าดิบ น้ำตก และหมู่เกาะห่างไกลฝั่ง ที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำใสและแนวปะการังที่สวยงาม เช่น เกาะรอก เกาะห้าใหญ่ และหินแดงหินม่วงที่เลื่องชื่อ
เกาะรอก อยู่ห่างจากท่าเรือศาลาด่านของเกาะลันตาใหญ่ 30 กิโลเมตร หมู่เกาะรอกมีเกาะรอกนอกและเกาะรอกใน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องหาดทรายขาวละเอียดและน้ำทะเลใส แนวปะการังรอบเกาะ ตามร่องน้ำส่วนใหญ่เป็นปะการังก้อน จึงเหมาะสำหรับการดำน้ำตื้นมาก ลึกลงไปนักดำน้ำสามารถพบเห็นปะการังลูกโป่งได้ทั่วไป และยังมีดอกไม้ทะเลและปลาการ์ตูนว่ายวนให้ชมอีกด้วย
หาดทรายขาวราวกับแป้งของเกาะรอก ทำให้หลายคนชอบเดินเล่นอยู่ตามชายหาด หากสังเกตจะพบว่าหาดทรายบนเกาะรอกมีรอยเท้าของปูเสฉวนอยู่เต็มหาดโดยเฉพาะในตอนเช้า
เกาะห้าใหญ่ เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ทางตะวันตกของเกาะลันตาใหญ่ เกาะนี้เป็นโขดหินและทุ่งหญ้าที่ไม่มีน้ำจืด แต่มีอ่าวเล็ก ๆ ให้เรือจอดหลบลมและหาดทรายสั้น ๆ พอเดินเล่นได้ ส่วนใหญ่คนที่ไปเกาะห้ามักไปดำน้ำลึก เพราะใต้ทะเลแถบนี้มีปะการังอ่อนสีสดอยู่หลายจุด หน้าผาด้านตะวันตกที่ดำดิ่งลงไปถึงความลึก 90 ฟุต จะพบปะการังอ่อนและกัลปังหา และบริเวณนี้จะพบฉลามวาฬและเต่ากระเป็นประจำ สิ่งที่น่าสนใจมากของการดำน้ำที่เกาะห้าใหญ่คือ ถ้ำใต้ทะเล ที่ข้างในใหญ่โตกว้างขวาง และถ้ำบริเวณเกาะห้าเหนือ ที่มีทางเข้าเล็กนิดเดียว แต่เป็นปล่องขึ้นไป ในถ้ำมีกุ้งหลายชนิดโดยเฉพาะกุ้งพยาบาล
เกาะไหง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา รอบเกาะมีแนวปะการังน้ำตื้นที่สวยงาม บนเกาะมี
รีสอร์ทหลายแห่งให้บริการ
หินม่วงหินแดง เป็นสุดยอดของการดำน้ำในไทย ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแนวประกรัง ความหลากหลายของสีสันสดใสของสัตว์น้ำใต้ทะเล กองหินทั้งคู่อยู่ทางตะวันตกของเกาะรอก ห่างออกไปราว 28 กิโลเมตร จุดเด่นของการดำน้ำที่หินม่วงหินแดง คือ ปะการังอ่อนหลากสีหลายชนิด ที่หินแดงน้ำตื้นกว่า จึงเห็นสีแดงของปะการังอ่อนและดอกไม้ทะเลเป็นผืนกว้าง ปลาที่ชุกชมบริเวณหินแดงหินม่วง คือปลาสากยักษ์ ปลามง บางครั้งอาจเจอฉลามวาฬ และฉลามเสือดาวด้วย และบางทีอาจพบปลาจิ้มฟันจรเข้ปีศาจที่คอยแฝงตัวตามปะการังอ่อนและปะการังดำ หากดำน้ำกลางคืนอาจได้พบปูแมงมุม ปูลูกกวาดที่ซุกตัวตามปะการังอ่อน
การเดินทาง
รถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายทาง
- จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ รวมระยะทาง 946 กิโลเมตร
- จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถึงจังหวัดชุมพร จากชุมพร ใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าอำเภอเวียงสระ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4035 ถึงอำเภออ่าวลึก จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง ถึงจังหวัดกระบี่ ระยะทาง 814 กิโลเมตร
รถโดยสารปรับอากาศ มีรถปรับอากาศชั้นหนึ่ง รถ VIP สายกรุงเทพฯ – กระบี่ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุกวัน ๆ ละ 2 เที่ยว เรือโดยสาร ไปเกาะลันตาและเกาะพีพี ออกจากท่าเรือเจ้าฟ้า ในตัวเมืองกระบี่ วันละ 2 เที่ยว ใช้เวลา 2 ชั่วโมง
นอกจากนั้นยังมีเรือหางยาวให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ จอดอยู่บริเวณอ่าวนาง ส่วนร้านดำน้ำจะอยู่ริมถนนบริเวณอ่าวนาง
ปีนผาจังหวัดกระบี่
เป็นจุดปีนเขาที่นักปีนผาทั่วโลกต้องการมาสัมผัส อ่าวไร่เลตั้งอยู่ตรงปลายแหลมของจังหวัดกระบี่ การเดินทางต้อง อาศัยเรือเป็นพาหนะอย่างเดียว เนื่องจากมีภูเขาสูงลูกหนึ่งกั้นเส้นทางบกระหว่างตัวเมืองกับอ่าวไร่เลไว้ มีโค้งอ่าวถึง 4 อ่าว คือ อ่าวไร่เลตะวันออก อ่าวไร่เลตะวันตก อ่าวพระนาง และอ่าวอันดามัน สิ่งที่น่าชื่นชมของที่นี่อย่างหนึ่ง คือ กิจการร้านปีนผาที่อ่าวนี้ทั้งหมด มีคนไทยเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการเอง มีที่พักประมาณ 10 แห่ง ตั้งเรียงราย ภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้น ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวราคาที่พักจะถูกกว่าตะวันตก เพราะทางฝั่งตะวันตกมีชายหาดสวยกว่า ทรายละเอียดกว่า และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม
จุดปีนหน้าผาทางอ่าวไร่เลฝั่งตะวันออกอยู่ตรงเกือบสุดหาด มีแผ่นผาหินปูนสูง มีชื่อเรียกว่า ผา 1, 2 และ 3 ซึ่งมีเส้นทางปีนผาหลายระดับ ทั้งเส้นทางเกือบเรียบ หาปุ่มหินแทบไม่เจอ เส้นทางที่มีชะง่อนยื่นงุ้มอยู่ระหว่างทาง และเส้นทางที่มีร่องลึกเป็นเชิงชั้นซึ่งง่ายต่อการปีน นักปีนผาแต่ละคนจะสวมฮาร์เนส คล้องเกี่ยวคาราไบเนอร์ ควิกดรอว์ อุปกรณ์บีเลย และรองเท้าปีนผา ไว้ที่ห่วงรอบเอง บางคนอาจเตรียมอุปกรณ์มาเองและหาคู่ปีนมาด้วย หรือจะติดต่อร้านปีนผาซึ่งมีทั้ง อุปกรณ์และคนแนะนำก็ได้ ที่หน้าผา 1 2 3 มีเส้นทางปีนมากกว่า 10 เส้นทาง สังเกตได้จากหมุด หรือโบลต์ (Bolt) ที่ตอกฝังในหินเป็นช่วง ๆ ขึ้นไป ในแต่ละจุดมีการวัดระดับความยากง่าย โดยใช้เป็นมาตราของฝรั่งเศส จากระดับ 5 เป็น 6 , 6A, 6A+ ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ยากที่สุด คือ 8C ซึ่งที่ไร่เลมีทุกระดับให้เลือกปีน แต่สำหรับคนปีนผาใหม่ ๆ อยู่ในระดับ 6 ฝั่งตรงข้ามหน้าผา 1 2 3 ห่างไปเพียงไม่เกิน 5 เมตร คือหน้าผาฟินเนเคิล เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ มีซอก หลืบให้ปีนได้ ง่าย ๆ อยู่ 2 เส้นทาง และมีเส้นทางค่อนข้างยาก ระดับ 6B อยู่ 1 เส้นทาง จุดชมวิวบนยอดเขาสูงของไร่เล เรียกกันว่าไฮวิวพอยนต์ (High View Point) อยู่ตรงจุดเลยโค้งอ่าวไร่เลตะวันออก ที่ไปหน้าผา 1 2 3 เลี้ยวขวาผ่านด้านข้าง รายาวดีพรีเมียร์ รีสอร์ท ผ่านถ้ำพระนาง ซึ่งตรงสุดทางเดินก็จะถึงอ่าวพระ นาง ซึ่งมีหน้าผาสำหรับฝึก Bouldering แต่หากจะไปไฮวิวพอยนต์จะมีป้ายบอกตรงศาลาริมทางก่อนสุดทาง นอกจากนี้ ยังบอกทางไป โลว์วิวพอยนต์ (Low View Point) และทะเลสาบ (Lagoon) เป็นทางดินเหนียวสีน้ำตาลส้มที่เปียก น้ำสูงวกวนขึ้นไปบนเขา ง่ายต่อการลื่นล้ม ต้องระวังในการเดินเป็นพิเศษ เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะถึงจุดที่จะต้องเริ่มปีนเขาไปยังจุดไฮวิวพอยนต์ หินบริเวณนี้แหลมคมกว่าหน้าผา 1 2 3 แต่จับและเหยียบง่ายกว่า เพราะมีช่องร่องขนาดพอดีเท้าตลอดทางแต่ต้องระวังอย่าให้พลาดถูกหินบาด
นอกจากจุดต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ที่ไร่เลยังมีอีกหลายจุดที่สามารถปีนขึ้นไปชมธรรมชาติอันสวยงามของทะเลอันดามัน บางจุดสามารถมองเห็นเกาะลันตา หมู่เกาะพีพี ซึ่งมีความยากง่ายของการปีนแตกต่างกันไป นักท่องเที่ยวสามารถขอข้อมูลได้จากกลุ่มนักปีนเขาต่าง ๆ ที่อ่าวไร่เล
การเดินทาง
ไปไร่เลจากกรุงเทพ มีรถประจำทางปรับอากาศวีไอพี ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกวัน เวลา 18.00 และ18.30 น. ค่าโดยสารประมาณ 655 บาทต่อคน เมื่อถึงสถานีขนส่งจังหวัดกระบี่ ต้องนั่งรถสองแถวต่อไปยังท่าเรือ ธนาคารกรุงเทพ ค่าโดยสารคนละ 15 บาท ลงเรือหางยาวไปอ่าวไร่เล ค่าโดยสารคนละ 50 บาท หากเหมาเรือจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300-350 บาท ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที หรือใช้บริการเรือประจำทางของ พีพี แฟมิลี่ ราคาคนละ 40 บาท
แหล่งดูนก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม หรือ เขานอจู้จี้ จ.กระบี่
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น มีป่าชั้นรองและป่าดั้งเดิม ป่ารอบ ๆ เขานอจู้จี้นี้เป็นป่าที่ราบต่ำแห่งสุดท้ายอันเป็น ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney's Pitta) ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งนกชนิดอื่น ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 307 ชนิด เช่น นกแซวสวรรค์ (Asian Paradise-flycatcher) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกปรอดดำปีกขาว (Black-and-White Bulbul) นกแต้วแล้วยักษ์ (Giant Pitta) นกเปล้าหน้าแดง (Jambu Fruit-Dove) นกจู๋เต้นลาย (Striped Wren-Babbler) ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Crested Fireback) และนกพญาปากกว้างท้องแดง (Black-and-Red Broadbill) เป็นต้น
การเดินทาง
ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านแยกที่จะเข้าตัวเมืองกระบี่ลงไปทางจังหวัดตรังประมาณ 32 กิโลเมตร ก่อนถึง อำเภอคลองท่อม เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4038 เพียงเล็กน้อยจะเห็นป้ายบอกทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าเขาประ-บางคราม แยกไปตามป้ายบอกทางเป็นระยะ ๆ ราว 17 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านบางเตียว อันเป็นที่ตั้งของ ที่ทำการเขตฯ รวมทั้งสำนักงานโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ ที่สามารถสอบถามข้อมูลได้
สำรวจถ้ำเขาขนาบน้ำ ล่องแม่น้ำกระบี่แม่น้ำกระบี่เป็นสายน้ำเส้นหลักของจังหวัด มีต้นน้ำอยู่ที่เขาพนมเบญจาในเขตอำเภอเขาพนม ไหลผ่านหน้าเมืองกระบี่ แล้วไปออกทะเลอันดามันเสน่ห์ของการล่องเรือที่แม่น้ำสายนี้คือ การได้สัมผัสธรรมชาติป่าชายเลนโดยไม่ต้องเดินทางสมบุกสมบัน เพราะป่าที่สมบูรณ์ผืนนี้ตั้งอยู่ใกล้แค่หน้าเมือง ทั้งได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ นับเป็นโปรแกรมสั้นๆใช้เวลาไม่มาก ราว 1 - 2 ชั่วโมงเท่านั้น เรือจะวิ่งจากท่าเจ้าฟ้าไปเขาขนาบน้ำ พาดูป่าชายเลนและกระชังปลาของชาวบ้าน จากนั้นพากลับมาส่งที่ท่าเรือ ณ จุดเดิม
สิ่งที่น่าสนใจในเส้นทาง
1. เขาขนาบน้ำ เขาหินปูนลูกโดดสองลูกที่ตั้งขนาบสองฝั่งแม่น้ำกระบี่นี้ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมืองกระบี่ เพราะตั้งโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำหน้าเมืองเมื่อนั่งเรือจากท่าเรือเจ้าฟ้า เรือจะไปจอดบริเวณเชิงเขาลูกที่อยู่ด้านขวามือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปเที่ยวชมโพรงถ้ำที่อยู่ด้านบน ซึ่งสูงจากพื้นดินราว 10 เมตร มีบันไดไม้ให้เดินขึ้นอย่างสบาย ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยพอสมควร ถ้ำแห่งนี้เคยมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เชื่อว่าในอดีตเคยมีมนุษย์เข้ามาทำกิจกรรมในถ้ำนี้ อาจเข้ามาอาศัย หรือใช้เป็นที่ฝังศพก็ได้
2. ป่าชายเลน แม่น้ำกระบี่จากบริเวณที่ไหลผ่านตัวเมืองกระบี่ไปอีกไม่ไกล ก็จะออกทะเลอันดามันทำให้แม่น้ำช่วงนี้เป็นน้ำกร่อย มีพันธุ์ไม้ชายเลน เช่น โกงกาง แสม เป็นต้น ขึ้นอยู่เป็นดงป่ากลางแม่น้ำ ในป่าชายเลน ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์นี้ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิด รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์ชนิดต่างๆ การล่องเข้าไปในคล่องซอยเล็กๆ ของป่าชายเลน จะทำให้มีโอกาสพบสัตว์ต่างๆมากขึ้น ทั้งได้เรียนรู้ธรรมชาติของป่าชนิดนี้อย่างใกล้ชิดด้วย
3. กระชังปลา ชาวบ้านเกาะกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง และเลี้ยงปลาในกระชัง ปลาที่นิยมเลี้ยงคือปลาเก๋า บางกระชังมีการเลี้ยงปลาทะเลไว้โชว์นักท่องเที่ยวด้วย เช่น กระชังของบังสมภพ ดำกุล ในคลองท่าหินซึ่งเป็นคลองซอย แยกจากแม่น้ำกระบี่ไปไม่ไกล ที่นี่มีกระชังเลี้ยงเต่าทะเล ปลาปักเป้า และปลาทะเลสวยงามที่ติดอวนขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปเที่ยวชมและให้อาหารปลาได้
จุดลงเรือ
อยู่ที่ท่าเรือเจ้าฟ้าหน้าเมืองกระบี่ เรือที่ให้บริการเป็นเรือหางยาวมีหลังคา ชาวบ้านเรียกว่าเรือ " หัวโทง " นั่งได้ประมาณ 7 คนคิดราคาเหมาลำ ไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)